Majorhollywood
     Home > Review > ยักษ์ มีรามเกียรติ์เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน ทุกแห่งหน ทุกผู้คน ไม่เว้นแม้แต่ในโลกของหุ่นยนต์
ยักษ์ มีรามเกียรติ์เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน ทุกแห่งหน ทุกผู้คน ไม่เว้นแม้แต่ในโลกของหุ่นยนต์

  “มีรามเกียรติ์เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน ทุกแห่งหน ทุกผู้คน

 ไม่เว้นแม้แต่ในโลกของหุ่นยนต์”

สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล/บ้านอิทธิฤทธิ์/ซูเปอร์จิ๋ว/เวิร์คพอยท์ พิคเจอร์ส

สุดภูมิใจที่ได้ร่วมกันสร้างฝันครั้งใหญ่ยิ่งกับอภิมหากาพย์ภาพยนตร์แอนิเมชั่นไทยที่มีชื่อสั้นๆว่า

ด้วยแรงบันดาลใจในตัวละครคลาสสิคจากมหากาพย์รามายณะ ราม, หนุมาน, ทศกัณฐ์ ฯลฯ

จุดประกายไอเดีย ให้เขียนเรื่องขึ้นมาใหม่ก่อนกำกับทุกภาพให้โลดแล่นเป็นการ์ตูนโดย
ประภาส ชลศรานนท์

 พร้อมร่วมเดินทางสร้างสรรค์จินตนาการภาพและเสียงให้เคลื่อนไหวอย่างมหัศจรรย์
จากหลากหลายศิลปินแห่งยุคในแขนงต่างๆ มาร่วมเนรมิตยักษ์ที่เรารักให้แผลงฤทธิ์บนผืนโลกใบนี้
4 ตุลาคมนี้ ถึงเวลาที่เรามั่นใจและเชื่อว่าทุกคนจะรัก “ยักษ์” เหมือนที่เรา “รัก”

 

เรื่องราวของ“ยักษ์

หลังสงครามอันยิ่งใหญ่ระหว่างหุ่นกระป๋องฝ่ายราม กับ หุ่นยักษ์ ฝ่ายทศกัณฐ์จบลงแบบล้างเผ่าพันธุ์ปล่อยทิ้งให้สนามรบกลายเป็นเพียงสุสานซากเศษโลหะและเป็นขุมทรัพย์ให้กับบรรดาหุ่นค้าของเก่า และแล้วเรื่องราวมิตรภาพและการเดินทางผจญภัยของเจ้าหุ่นยนต์ 2 ตัวที่ดูๆ ไปแล้วไม่มีสิ่งใดที่จะเหมือนกันสักนิดเดียวก็ได้เริ่มต้นขึ้นในอีกหลายล้านวันต่อมา

เจ้าหุ่นตัวหนึ่งใหญ่ยักษ์สมร่างชื่อ “น้าเขียว” บ่งบอกตามลักษณะสีอันเป็นเอกลักษณ์ ดูน่าเกรงขาม กับ “เจ้าเผือก” หุ่นกระป๋องมินิตัวเล็กประเมินจากสภาพจากพวกค้าหุ่นยนต์เก่าบอกได้คำเดียวว่าไร้ราคา แต่กลับกลายเป็นว่าเจ้าหุ่น2ตัวต่างตื่นขึ้นมาจากการถูกขุดขึ้นพร้อมกับสภาวะหน่วยความจำเสื่อม ไม่จำอดีตไม่รู้อนาคต แถมยังมีโซ่พิเศษที่ตัดเท่าไหร่ก็ตัดไม่ขาดผูกล่ามติดกัน

หนำซ้ำงานนี้พอทั้งคู่ตื่นขึ้นมาก็อาละวาดซะจนเมืองขายของเก่ากระเจิดกระเจิงราบเป็นหน้ากลอง  ทำให้ทั้งคู่ต้องหนีและกลายเป็นร่วมผจญภัยไปด้วยกันอย่างไม่มีทางเลือก ทีแรกดูเผินๆต่างฝ่ายต่างเป็นส่วนเกินของกันและกัน แต่ตลอดการเดินทางกลับมีเรื่องราวหลากหลายเกิดขึ้นทำให้ทั้งคู่กลายเป็นฮีโร่โดยไม่รู้ตัว สร้างความผูกผันให้กับทั้งน้าเขียวและเจ้าเผือกก่อเกิดเป็นมิตรภาพที่ทำให้ส่วนเกินกลายแปรเปลี่ยนเป็นส่วนเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปของทั้งคู่ และจนวันหนึ่งที่พวกเขาพร้อมจะเป็นเพื่อนสนิทด้วยความเต็มใจ กลับเป็นวันที่ต้องรู้ว่า... แท้จริงแล้วตัวตนของพวกเขาคือใคร  หน้าที่และภารกิจที่ได้รับมอบหมายจะต้องดำเนินต่อไป ทำให้ต้องเลือกระหว่าง มิตรภาพกับหน้าที่  สิ่งใดสำคัญกว่ากัน

4 ตุลาถึงเวลาที่พวกเขาทั้ง 5 จะพา “ยักษ์” ออกเดิน

“ยักษ์”โปรเจ็คต์ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์ทุนสร้างกว่า100ล้านบาทที่ค่ายหนังยักษ์ใหญ่อย่าง“สหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล” จับมือร่วมกับ3พันธมิตรอย่างบ้านอิทธิฤทธิ์ โปรดักชั่นเฮาส์ทีมผลิตแอนิเมชั่นที่คร่ำหวอดและอยู่เบื้องหลังงานโฆษณา,มิวสิควิดีโอและภาพยนตร์ต่างๆ มานับไม่ถ้วนบ.ซูเปอร์จิ๋ว ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์วาไรตี้ขวัญใจเด็กๆและคุณพ่อคุณแม่ยืนหยัดยาวนานมากว่า21ปีและบ.เวิร์คพอยท์พิคเจอร์สในการผนึกกำลังสร้างสรรค์ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นสายเลือดไทยที่กลั่นจากสมองและสองมือกำกับของ พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ ครีเอทีฟนักคิดนักเขียนนักแต่งเพลง ฯลฯ อันดับต้นๆ ของประเทศที่คิดฝันอยากทำการ์ตูนมาค่อนชีวิต ผ่านลายเส้นดีไซน์การออกแบบอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดยเอ็กซ์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์(ชนะเลิศ FIRST PRIZE:SIGGRAPH 1998ซึ่งเปรียบได้กับรางวัลออสการ์สำหรับนักศึกษา)การประกวดผลงานแอนิเมชั่น ประเภทนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก โดยใช้เวลากว่า 6 ปีจนถึงวันนี้พวกเขาพร้อมแล้วที่จะร่วมกันพา “ยักษ์” ออกเดินเข้าไปอยู่ในใจคอการ์ตูนแอนิเมชั่นอย่างภาคภูมิใจ 4ต.ค.นี้ทุกโรงภาพยนตร์ทั่วไทยทั้งในแบบเสียงไทยและเสียงภาษาอังกฤษ

เสี่ยเจียง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ     ผู้สร้างแอนิเมชั่น “ยักษ์”

หัวเรือใหญ่แห่งค่ายหนังใหญ่ยักษ์ “สหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล”

“ตั้งแต่คุณจิกมาเสนอชวนทำโปรเจ็คต์ยักษ์ด้วยกันว่าอยากหยิบรามเกียรติ์มาทำหนังโดยเอาทศกันฐ์ หนุมานมาทำเป็นหุ่นแล้วสู้กัน แน่นอนว่าเรื่องทศกันฐ์มันดีแน่ ใครๆ ก็รู้จักไม่ใช่แค่เมืองไทยด้วย เพราะเรื่องรามเกียรติ์เป็นเรื่องของเอเชีย ผมยังคิดในใจว่าการ์ตูนที่จะสร้างจะออกมาเป็นอย่างไรนี่เป็นหนังเรื่องแรกที่เราร่วมกับคุณจิกประภาส ชลศรานนท์ และเวิร์คพอยท์พิคเจอร์โดยเขาได้ไปชักชวนพรรคพวกมาร่วมทุนด้วยอย่างบ้านอิทธิฤทธิ์, ซูเปอร์จิ๋ว เราลงทุนไป 100 กว่าล้าน รอจนถึงวันนี้การ์ตูนเสร็จแล้ว ลองคิดในใจดูว่าเรารอมา 5-6 ปีกว่าจะได้เห็นภาพนี้ ยังจำได้วันที่คุณจิกชวนผมดูหนัง โอ้โห!คิดไม่ถึงว่าทางคุณจิกจะทำออกมาได้ดีอย่างนี้ ภาพทุกภาพสวยมากมีครบทั้งฉากบู๊ฉากรบตอนสนุกต่อสู้ผจญภัยแล้วตัวหนังก็สนุกมาก เป็นหนังการ์ตูนที่ครบรสพูดได้ว่ารู้สึกพอใจมาก อยากเชิญชวนให้คนดูทุกคนลองมาดูหนังการ์ตูนคนไทยเรื่องนี้ ว่าคนไทยเราก็มีฝีมือนะอย่างน้อยๆ ช่วยให้กำลังใจคนไทยบ้างที่ทุ่มเททำผลงานออกมาได้ขนาดนี้ เพื่อที่จะได้มีคนไทยที่ยังทำหนังการ์ตูนต่อไปได้อีก ส่วนตัวผมรู้สึกภูมิใจและพอใจอย่างมาก คุณจิกทำได้ดีมากๆ”

“โอ๋-พาณิชย์ สดสี” หัวเรือใหญ่ “เวิร์คพอยท์พิคเจอร์ส”
ผู้ควบคุมงานสร้างแอนิเมชั่น“ยักษ์”

“คือการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องยักษ์เป็นหนังที่เป็นเรื่องราวของเพื่อน เราได้แรงบันดาลใจมาจากรามเกียรติ์ แต่ว่าไม่ใช่รามเกียรติ์เอามาสร้างใหม่นะ มันเป็นเรื่องเล่าอีกอย่างเลย มันคือศัตรูเก่าที่รบกันมาทุกเวอร์ชั่นของทุกประเทศในเอเชีย เล่าใหม่ในเวอร์ชั่นที่เป็นเพื่อนกัน ศัตรูที่ความทรงจำหายไปมาเป็นเพื่อนกัน ความทรงจำกลับคืนมาจะเกิดอะไรขึ้น ในเมื่อคนเป็นเพื่อนกันจำได้ว่าเป็นศัตรูแล้วจะเป็นยังไง เล่าอีกแบบหนึ่งเลย เล่าแบบงานเขียนของพี่จิก เล่าโดยเพลงของพี่จิก เล่าโดยความรู้สึกที่อยากเล่าแบบพี่จิก เล่าโดยลายเส้นการ์ตูนของเอ็กซ์มีความเฉพาะตัวมาก มันน่าจะเป็นส่วนผสมที่ดีมากๆ สำหรับพี่รู้สึกว่านอกจาก บทภาพยนตร์ที่สนุก การออกแบบงานสร้างที่ งดงาม แตกต่าง และมีเอกลักษณ์ เนื้อหาดูแล้วมีอะไรให้คนดูในแง่ ความลึกของเรื่องราวและอารมณ์มากๆ เป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้ชมจะสนุกสนานไปกับหนังเอนิเมชั่น”                                

วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ–ผู้สร้างร่วมภาพยนตร์แอนิเมชั่น “ยักษ์”

พี่ซุป“ซูเปอร์จิ๋ว” ผู้เชื่อมั่นในพลังของการ์ตูนแอนิเมชั่น

“ความทรงจำที่ประทับใจสมัยอดีตของผมก็คือทุกเย็นก่อนกลับบ้าน ครูจะให้นักเรียนทั้งห้องท่องอาขยาน  "บัดนั้น พระยาภิเภกยักษีเห็นพระองค์ทรงโศกโศกี อสุรีกราบลงกับบาทาทูลว่าพระลักษณ์สุริยวงศ์ยังไม่ปลงชีวังสังขา อันโมขศักดิ์อสุรา พรหมาประสิทธิ์ประสาทไว้" เราผูกพันกับ รามเกียรติตั้งแต่วันนั้นโตขึ้นมา  ความบันเทิงที่สุดของเราก็คือ การดูการ์ตูนทอม แอนด์ เจอรี่, หน้ากากเสือ, โดราเอม่อน ฯลฯเราเป็นเด็กที่โตมากับการ์ตูนต่างชาติ เมื่อถึงวัยทำงาน21ปี ที่มีโอกาสงานสร้างสรรค์รายการซูเปอร์จิ๋ว ประสบการณ์ที่ผูกพันกันทำให้เราเกิด "Dream" มีความฝันว่า วันหนึ่งเราอยากทำแอนิเมชั่นสัญชาติไทยให้ลือลั่นสักครั้งในชีวิต ผมแทบจะตอบรับในทันทีที่ได้รับได้รับคำชวนให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็คต์ภาพยนตร์"ยักษ์"เพราะศรัทธา ในทุกผลงานของพี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ เชื่อมือการแอนิเมชั่นของคุณเอ็กซ์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ และเชื่อมั่นในมุมมองของสหมงคลฟิลม์ฯ หลายปีที่ผ่านมานี้ยักษ์พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และพร้อมแล้วที่จะให้ทุกคนได้ชม ถึงวันนี้ความตื่นเต้นของเราเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

อยากให้ทุกคนได้ดูได้ชมได้แรงบันดาลใจจากการชมภาพยนตร์"ยักษ์"แอนิเมชั่น สำหรับคนทุกเพศทุกวัยผมเชื่อว่าทุกคนจะรัก และภูมิใจกับ "ยักษ์"ไปด้วยกันครับ    

เอ็กซ์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์

ร่วมกำกับภาพยนตร์และกำกับแอนิเมชั่น “ยักษ์” ผู้ก่อตั้ง “บ้านอิทธิฤทธิ์”

 “เสน่ห์ของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่บท เป็นสิ่งแรกที่ทำให้ผมและทีมงานอยากทำเลยและบทที่พี่จิกเขียน มันแข็งแรงพอที่จะมาทำการ์ตูน แล้วคาแร็คเตอร์ที่ผมนำไปให้พี่จิกดูมันเข้ากันได้พอดี จนเรามาช่วยกันทำให้มันออกมาสมบูรณ์มากขึ้น เอาความเป็นสากลกับความเป็นไทยมาผสมกัน ที่สำคัญผมรู้สึกว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่การ์ตูนนะ ผมเคยคุยกับพี่จิกว่าการ์ตูนเรื่องนี้มันเป็นการ์ตูนคน มันเป็นการ์ตูนคนแสดง เราจะทำการเคลื่อนไหวอิงจากคนจริงๆ หมายถึงการเคลื่อนไหวมันจะเป็นตามจริง เช่น ยักษ์วิ่ง-เดินก็เดินหนักๆ ช้าๆ จริงๆ ยักษ์เศร้าก็เศร้าจริงๆ มันจะเป็นงานที่ไม่ใช่การ์ตูนที่เด็กมาก เราจะไม่ให้การเคลื่อนไหวดูเป็นการ์ตูนเกินไป  แต่ถ้าอันไหนเป็นฉากสนุกๆ  เราจะทำการเป็นเคลื่อนไหวเป็นแบบการ์ตูนไว้บ้างเช่นฉากร้องเพลง  แต่อะไรที่แสดงอารมณ์เยอะๆ ผมจะให้แอนิเมเตอร์อิงจากจากการเคลื่อนไหวของคนพากย์ให้ใกล้เคียงที่สุดครับ  ถึงจะเป็นหุ่นแต่เราต้องทำให้คนเชื่อก่อนว่าตัวนี้มันไม่ใช่แค่อนิเมชั่นนะ มันเป็นหุ่นที่มีชีวิตจริงๆ มีการเคลื่อนไหวแบบคนจริงๆ มีอารมณ์มีความรู้สึกต่างๆ มีโกรธกัน มีงอนกัน มีสู้กัน มีความเจ็บปวด เป็นหนังที่จะเล่าถึงความรู้สึกของเพื่อนเน้นความสัมพันธ์ อารมณ์สูงมาก”

 ประภาส ชลศรานนท์ ผู้ให้กำเนิดและเลี้ยง “ยักษ์”

 “ทุกงานที่ผมทำมันมักจะมีตัวเราเข้าไปอยู่เหมือนเพลงของเฉลียง เหมือนเรื่องสั้น เหมือนบทละคร แอนิเมชั่นเรื่องนี้ก็มีตัวเราเข้าไปอยู่ สิ่งแรกที่ผมตั้งใจให้คนดูได้ก็คือความสนุกและความตื่นใจ ความตื่นใจเวลาดูหนังนี่มันเป็นความสุขนะ และผมก็คิดว่าคนดูแต่ละวัยจะได้อะไรเพิ่มนอกจากความสนุก มีหลายความคิดที่ผมสอดแทรกไว้ในหนัง หัวใจของยักษ์คือเรื่องมิตรภาพเรื่องหน้าที่ ทำไมผมถึงอยากพูดเรื่องนี้ ผมว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ มันทำให้เราเดินต่อในชีวิตอย่างราบรื่น คำถามมากมายที่ผมตั้งไว้ในหนังไม่ว่าจะเป็น เราเกิดมาทำไม เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหน้าที่ของเราคืออะไร หรือถ้าเราถูกกำหนดให้มีหน้าที่รบกันไปตลอด ที่แท้แล้วมันคือหน้าที่ของเราจริงๆ หรือเปล่า?

ที่ชื่อเรื่องยักษ์เพราะยักษ์ภาษาไทยมันไม่ได้แปลว่าใหญ่อย่างเดียว มันแปลว่าดุร้ายด้วย ยักษ์มันแทนสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของคน พลังมหาศาลอย่างยักษ์นี่ถ้าเราคุมมันได้มันก็จะเป็นพลังที่ยอดเยี่ยม สังเกตดีๆ ในหนังยักษ์จะมีบางช่วงที่มีเหตุฉุกเฉินพลังของเขาจะออกมาเอง หรือว่าพอเขาจะช่วยเพื่อนไอ้พลังอันยิ่งใหญ่ตัวนี้ก็จะออกมา ยักษ์มันเป็นทั้งความรักและความโกรธ เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย นี่คือพลังที่แอบอยู่ในมนุษย์ทุกคน ถ้าคุมมันไม่อยู่มันก็จะออกมาคุมเราเอง”

                                                                                            

ทำไมต้องยักษ์? พลิกรูปแบบรามเกียรติ์ในอวตารที่สิบล้านเอ็ด

ด้วยความชื่นชอบและหลงใหลในตัว “ทศกัณฐ์”ราชันย์แห่งผองยักษ์ ตัวละครเอกแห่งมหากาพย์รามายณะสุดยอดวรรณกรรมของชาวเอเชียที่
“ประภาส ชลศรานนท์”มองว่านี่คือสุดยอดงานครีเอทีฟที่เต็มไปด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ชิ้นเอกที่ปรากฏขึ้นบนผืนพิภพ พูดได้ว่ามนต์เสน่ห์ของ “ทศกัณฐ์” ยักษ์ 10หน้า 20แขน 20มือและเหล่าตัวละครอันหลากหลายรวมทั้ง “หนุมาน” ทหารเอกของพระราม ที่ซนยังกะเด็กแต่ถึงกระนั้นก็คือฮีโร่ที่เต็มไปด้วยอิทธิฤทธิ์ชนิดที่ยากจะหาใครเทียบทานโดยเฉพาะหางหนุมานที่มัดภูเขาบรรพตได้ทั้งลูกรวมไปถึงบรรดาฉากรบแห่งจินตนาการต่างๆ ในมหากาพย์รามายณะคือภาพจำที่ติดตามาตลอดชีวิตและหวังไว้ว่าวันหนึ่งจะต้องนำสิ่งที่ตนเองรักนำมาทำอะไรสักอย่าง

จนกระทั่งเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้วโปรเจ็คต์ “ยักษ์” ก็ถือกำเนิดขึ้นในรูปแบบของภาพยนตร์โดยมีประภาส ชลศรานนท์รับหน้าที่กำกับภาพยนตร์ จากแนวคิดและไอเดียของตนเองร่วมเขียนบทภาพยนตร์กับพัลลภ สินธุ์เจริญ เพียงทว่าไม่ใช่ภาพยนตร์คนแสดงแต่เป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นอย่างเต็มรูปแบบ หลายคนอาจแปลกใจที่ครีเอทีฟนักคิดนักเขียนระดับแถวหน้าของประเทศลุกขึ้นมากำกับหนังการ์ตูน แต่ถ้าใครที่ได้สัมผัสและรู้จักตัวตนของประภาสแล้วจะรู้ว่าเขาคิดเขาฝันที่จะทำหนังการ์ตูนมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี

“เรื่องการทำการ์ตูนแอนิเมชั่นเป็นสิ่งที่อยากทำมามากกว่าสิบปีแล้ว แต่มันยังหามือคู่ใจไม่ได้ และโดยเทคนิควิธีการในขั้นตอนการทำแอนิเมชั่น พอเราได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาจริงๆ จังเลยรู้ว่า หนึ่งมันต้องใช้เงินเยอะมาก สองเราต้องไปใช้ทีมงานในต่างประเทศด้วย เพราะถ้าจะพึ่งคนเขียนคนวาดแค่ในประเทศไทยอย่างเดียวก็คงไม่พอ คือเราก็ศึกษาหาข้อมูลมาตลอดนะ แต่เรารู้ว่ายังทำไม่ได้ก็ไม่คิดอะไร ก็หันไปทำอย่างอื่นก่อนจนกระทั่งวันหนึ่งได้เจอเอ็กซ์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ (ดีกรีชนะเลิศ FIRST PRIZE:SIGGRAPH 1998ซึ่งเปรียบได้กับรางวัลออสการ์สำหรับนักศึกษา การประกวดผลงานแอนิเมชั่น ประเภทนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก) ซึ่งเพิ่งกลับมาจากอเมริกาใหม่ๆ แล้วตอนนั้นเทคโนโลยีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการทำแอนิเมชั่นพัฒนาไปไกล แล้วก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คิดว่าโอกาสที่จะได้ทำการ์ตูนเริ่มจะมีความเป็นไปได้ และเป็นที่มาที่ทำให้ตัดสินใจเปิดบริษัทบ้านอิทธิฤทธิ์ขึ้นพร้อมกับโปรเจ็คต์ที่จะทำการ์ตูนแอนิเมชั่น”

จุดกำเนิด “ยักษ์”

แน่นอนว่าในบรรดาลิ้นชักแห่งจินตนาการของนักคิดอย่างพี่จิกประภาสล้วนอัดแน่นไปด้วยสารพัดไอเดียที่ผ่านการบ่มเพาะมาในต่างวาระและถึงพร้อมที่จะถูกเรียกหยิบมาใช้เมื่อสบโอกาสและเวลา แล้วจะมีไอเดียอื่นใดเล่าที่ฝังอยู่ในใจถ้าไม่ใช่ “ยักษ์ทศกัณฐ์”

“เมื่อเริ่มประชุมบท ผมบอกกับทีมงานว่ารามเกียรติ์หรือรามายณะเป็นสุดยอดวรรณกรรมของชาวเอเชีย เป็นสุดยอดงานความคิดด้านครีเอทีฟ เป็นสุดยอดปรัชญา ประเทศไหนๆ ก็รู้จักและก็มีรามายณะเป็นของตัวเอง แล้วผมก็เริ่มส่งคนไปศึกษาเรื่องรามายณะของชาติต่างๆ พอเราไปศึกษาเรื่องว่ารามเกียรติ์มีหลายอวตารมาก แต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน วิธีออกแบบไม่ต้องพูดถึงต่างกันลิบลับไม่ว่าจะมาจากอินโดนีเซีย เขมร ลาว หรือว่าทางทิเบตไม่เหมือนกัน แต่ของทุกชาติมีหนุมาน ทศกันฐ์ พระรามเหมือนกันแน่นอน ผมชักลังเล ถ้าผมทำรามเกียรติ์แล้วเรื่องราวมันผิดไปจากที่คนทั่วๆ ไปรู้ละ แล้วผมก็ไปเจอประโยคหนึ่งซึ่งสำคัญเหมือนกุญแจในการเขียนบทหนังเรื่องนี้เป็นประโยคจากพราหมณ์ตุลไสดาษมหากวีผู้เป็นคุรุในทศวรรษที่ 16ท่านกล่าวว่า “Rama is born in countless ways, and there are tens of millions of Ramayanas…” ด้วยคอนเซ็ปท์นี้ผมตีความว่ามันเป็นการอวตารมาเกิดใหม่หลายชาติ มีรามเกียรติ์เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในโลกใบนี้ในชีวิตของมนุษย์เราแม้แต่ในยุคปัจจุบัน ผมตั้งคำถามไว้ตรงนี้เลยมันจะต้องรบกันไปอีกตลอดกาลเหรอ?เลยเกิดความคิดว่าผมจะทำอวตารที่สิบล้านเอ็ด อวตารที่หนุมานเป็นหุ่นกระป๋องต่อสู้กับทศกัณฐ์ซึ่งเป็นหุ่นยักษ์ หุ่นกระป๋องจะต้องกระจอกและน่ารักเหมือนลิง ส่วนหุ่นยักษ์แน่นอนจะต้องตัวใหญ่และดูน่ากลัวที่สุด ผมคิดเดี๋ยวนั้นเลยว่าหนังเรื่องนี้ชื่อ ยักษ์ แล้วผมก็คิดต่อว่าถ้าหนุมานทหารเอกของพระรามรบกับอสูรทศกัณฐ์มาสิบล้านอวตารแล้ว อวตารนี้จะยังรบกันอีกไหม หรือว่าผมจะให้เขาทั้งสองเป็นเพื่อนกันดี?รามเกียรติ์พูดถึงมหาสงครามมาตลอด รามเกียรติ์ฉบับนี้เราจะหยุดสงครามกันไหมเราจะ REVERSEกลับมาใหม่ ถ้าเราให้ทั้งคู่ไม่ได้รบกัน นี่คือจุดเริ่มต้นเราก็เลยคิดตีลังกากลับมาใหม่ผูกเรื่องที่เอาแค่บางอย่างในรามเกียรติ์เช่นตัวละคร,ฉากทีเด็ดที่พวกเราจำได้เอามา REVERSEกลับใหม่ว่าถ้าอวตารคราวนี้ที่เกิดใหม่อีกครั้งหนึ่งไม่เหมือนกับอวตารครั้งที่แล้วละ เออมันจะเป็นยังไงนะ นี่คือต้นที่มาของความคิดที่เราจะทำเรื่องนี้”

เพียงทว่าการขึ้นจอในรูปแบบแอนิเมชั่นของรามเกียรติ์ในลายมือของพี่จิกประภาสที่ครั้งหนึ่งเกือบมาในชื่อของรามเกียร์ (ฟันเฟืองของพระราม) คือการตีลังกา 360 องศา 508ตลบคิดใหม่ทำใหม่ด้วยการหยิบเอาตัวละครคลาสสิคของรามายณะมาตีความและนำเสนอในรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมาเพราะครั้งนี้จะเป็นรามเกียรติ์ในโลกของหุ่นยนต์

“ที่คิดว่าเป็นหุ่นยนต์ก็เพราะเคยคิดว่าเป็นหนังคนได้มั้ย จากเรื่องที่เราต้องการนำเสนอซึ่งคิดว่าได้ แต่ที่เป็นหุ่นยนต์แต่ที่เป็นแอนิเมชั่นเพราะว่ามันรุนแรงได้โดยที่ไม่รู้สึกว่ารุนแรง มันอาจจะแค่รู้สึกว่ามันน่ารักหรือมันเด๋อด๋าเท่านั้นเอง แต่ถ้าเป็นหนังคนมันจะรุนแรงมากกว่านี้ ไม่ได้นะ ซึ่งจริงๆ มันไม่รุนแรงนะ แต่พอมันมาอยู่ในโลกของแอนิเมชั่นโลกของหุ่นยนต์ พอมันฟาดดังปั้งมันก็คือท่อนเหล็กล้ม ที่น่าสนใจคือมันมี MOVEMENTของความเป็นแอนิเมชั่นสูง ถามว่าอะไรมาก่อนระหว่างรามเกียรติ์กับหุ่นยนต์มันมาไม่พร้อมกันบางทีหุ่นยนต์ก็มาก่อนแล้วค่อยรามเกียรติ์ก็มีแล้วอย่างเราก็เคยได้ยินอยู่แล้วว่ามีคนคิดรามเกียรติ์เป็นเวอร์ชั่นต่างๆ การที่รามเกียรติ์เป็นหุ่นยนต์ก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจดีนะ หนุมานจะเป็นยังไง ทศกัณฐ์จะเป็นยังไง แต่เราไปอีกขั้นหนึ่งคือเราจะไม่เล่ารามเกียรติ์ที่พวกเราเคยรู้มา แต่จะเอาฉากบางฉากและเอาตัวละครมาเล่าโดยเขียนเรื่องใหม่หมดเลย เหมือนกับว่าเมื่อมันเกิดใหม่ มันก็เกิดเรื่องใหม่ขึ้นมา และเป็นเรื่องที่เราอยากเล่าที่เราอยากพูดถึงและก็ตั้งชื่อเดี๋ยวนั้นเลยว่าเรื่องนี้ชื่อ “ยักษ์”  เพราะเราจะเล่าตัวนี้เป็นตัวเอกไม่เคยคิดเป็นชื่ออื่นเลย

พร้อมผูกเรื่องสอดแทรกปรัชญาและมุมมองในแบบประภาส ชลศรานนท์ ผ่านลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเอ็กซ์ชัยพร พานิชรุทติวงศ์แห่งบ้านอิทธิฤทธิ์ 

“คุยกันเริ่มแรกกับพี่จิกว่าการ์ตูนแอนิเมชั่นที่เราจะทำคือเป็นเรื่องรามเกียรติ์ครับ แต่เราไม่ทำรามเกียรติ์ เราจะไปทำหุ่นยนต์ที่มีกลิ่นอายเป็นรามเกียรติ์ มันเป็นเรื่องราวของมิตรภาพหลังจากที่ทศกัณฐ์กับหนุมานสู้กัน ทั้งสองสู้กันในสงครามยิ่งใหญ่และก็เกิดระเบิดขึ้นจากรามที่ยิงศรลงมาเพื่อฆ่าทศกัณฐ์ ทำให้ทุกอย่างหายเกลี้ยง  ยกเว้นหนุมานกับทศกัณฐ์ พอเวลาผ่านไปทั้งสองตื่นขึ้นมา ทั้งสองคนนี้จำไม่ได้เลยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร แต่ตอนที่สู้กัน โซ่ของหนุมานไปปักที่ทศกัณฐ์  และเนื้อเหล็กของทั้งสองนั้นเป็นเหล็กสงคราม เหล็กพิเศษที่ไม่สามารถที่จะตัดได้ ทำให้ทั้งสองต้องตัวติดกันโดยมีโซ่เชื่อมโยงไว้อยู่ไปไหนไม่ได้ต้องไปด้วยกัน ทั้งสองเลยออกเดินทางหาวิธีที่จะตัดโซ่แยกออกจากกันให้ได้ ในระหว่างนั้นก็เกิดความสัมพันธ์ที่เป็นเพื่อนขึ้นมา แต่ในระหว่างที่เดินไปหนุมานดันจำความได้ว่าตัวเองเป็นทหารเอกของราม ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้เกิดคำถามแล้วว่าจะเลือกอย่างไหนระหว่าง มิตรภาพหรือหน้าที่”

 

มาตรฐานของ “ยักษ์” นำไปสู่ แอนิเมชั่น 6 ปีที่มาพร้อมหลากหลายองค์ประกอบ

 ที่จะทำให้ “ยักษ์”เป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นแห่งปรากฎการณ์

ไม่เพียงแค่ชื่อแต่พูดได้ว่าแอนิเมชั่นสายเลือดไทยทุนสร้างกว่า 100 ล้านบาทเรื่องนี้จะเป็นที่เห็นพ้องต้องกันทั้งจาก“คนต้นคิด”อย่าง“จิก-ประภาส”ไปจนถึงคนที่ต้องถ่ายทอดจินตนาการให้กลายเป็นภาพอย่าง“เอ็กซ์-ชัยพร”แน่นอนว่ารวมไปถึงผู้สร้างอย่าง “สหมงคลฟิล์มฯ” “บ้านอิทธิฤทธิ์” “ซูเปอร์จิ๋ว” และ “เวิร์คพอยท์พิคเจอร์ส” ตลอดจนทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังการเนรมิตให้เกิดเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นฟอร์มใหญ่ “ยักษ์” ว่าจุดหมายปลายทางของฝันครั้งนี้ที่ทุกคนจะออกมาเร่ขายร่วมกันอย่างน้อยๆ คงกินเวลาถึง 5-6ปีและจุดหมายปลายทางคงไม่ได้ใกล้แค่เอื้อมเป็นแน่แท้ จากบทภาพยนตร์ทำให้ทีมแอนิเมเตอร์ต้องเนรมิตฉากเหตุการณ์ในเรื่องที่มีไม่ต่ำกว่า 10 ฉาก ซึ่งล้วนแล้วเป็นฉากใหญ่อลังการที่ใช้เวลาอย่างน้อย 6-10เดือนแทบทั้งสิ้น บางฉากมีตัวการ์ตูนที่ต้องถูกวาดขึ้นมานับร้อยๆ พันๆ ตัวเพื่อร่วมในฉากดังกล่าว โดยการผจญภัยเพื่อมุ่งหน้าตัดโซ่ของเจ้าเผือกและน้าเขียวเองจะต้องพานพบหุ่นสารพัดผ่านเมืองต่างๆ ที่ทุกตัวละครล้วนแตกต่างกันหลากหลายไปตามบทบาทอารมณ์ของเรื่องราวทั้งผจญภัย สนุกสนาน ระเบิดเสียงหัวเราะ ซาบซึ้งไปจนถึงสมรภูมิรบของมหาสงครามระหว่างหุ่นยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรยากาศของการดำเนินเรื่องในรูปแบบของมิวสิคคัลที่ตัวละครบอกเล่าเรื่องราวผ่านบทพูดที่สอดแทรกด้วยบทเพลงที่สร้างอารมณ์ให้กับตัวภาพยนตร์ตามความตั้งใจของผู้กำกับซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเพลงเป็นส่วนหนึ่งในความเป็นผู้ชายที่ชื่อประภาส ชลศรานนท์ขนาดไหน

“อย่างมิวสิคคัลสำหรับแอนิเมชั่นเรื่องยักษ์ก็มีความจำเป็นนะมันทำให้อิ่มหรือแม้แต่งานของผมเองหลายชิ้น ก็มักใส่ความเป็นมิวสิคคัลเข้าไปอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วมันคล้ายๆ กับเป็นความชอบส่วนตัวด้วย แต่การทำมิวสิคคัลนี่ก็ถือว่าเพิ่มขั้นตอนในการทำการ์ตูนขึ้นไปอีกนะ ซึ่งความเป็นเพลงตรงนี้มันจะช่วยทำให้แอนิเมชั่นยักษ์มีความเป็นกวีอยู่นิดหนึ่ง บางทีมันลดโทนของความหนักลงมาด้วย แล้วเวลาเราเล่าอะไรด้วยเพลง ถ้าจังหวะดีนะ มันจะทำให้รู้สึกมาก เป็นความตั้งใจของเราที่วางไว้ที่มีตั้งแต่อยู่ในบทเริ่มแรกเลย ว่าจะต้องมีเพลงตรงนี้ๆ หรือมีฉากที่เป็นมิวสิคคัลนะ”



COMMENT

SHOWTIME & Buy tickets
Select Movie

ลงทะเบียนรับข่าวสารทาง อีเมล์
Slide 1 Slide 2 Slide 3 Slide 4 Slide 5 Slide 6
Slide 1
Slide 2
Slide 3